วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เปิดกรุจดหมายรัก “ไอน์สไตน์” อีกเสี้ยวชีวิตยอดอัจฉริยะนักรัก


เอเจนซี/บีบีซี – จดหมายรักกว่าพันฉบับลายมือ “ไอน์สไตน์” เผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ตีแผ่เรื่องราวชีวิตอีกด้านของยอดอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ไม่ได้เป็นแค่นักวิทยาศาสตร์เอกแห่งยุค แต่ยังเป็นนักรักที่มีสาวรุมล้อมมากมาย เผลอๆ อาจจะชำนาญรักมากกว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพอันเลื่องลือ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ก.ค.) มหาวิทยาลัยฮีบรู (Hebrew University) ในเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นสถานที่ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) มอบทรัพย์สินส่วนตัวให้เก็บไว้ ได้นำจดหมายลายมือไอน์สไตน์ ราว 3,500 หน้ามาโชว์แก่สาธารณชน ซึ่งจดหมายกองโตนี้มีประมาณ 1,400 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นลายมือของไอน์สไตน์ที่เขียนถึงภรรยาที่สองพร้อมกับลูกเลี้ยง และอีกส่วนเป็นจดหมายจากภรรยาและลูกๆ ในครอบครัวแรก โดยเขียนขึ้นระหว่างปี 2455-2498 “ไอน์สไตน์” มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยมาก หลังจากได้รับรางวัลโนเบลแล้ว เขาต้องตระเวนบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ และท้ายที่สุดก็ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ กระทั่งเสียชีวิตลงในปี 2498 ด้วยวัย 76 ปี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะต้องติดต่อผ่านครอบครัวด้วย “จดหมาย” ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยจดหมายของไอน์สไตน์ถึงมิเลวา มาริก (Mileva Maric) ภรรยาคนแรก แต่ออกมาในทำนองว่า ชีวิตแต่งงานของเขากับมิเลวาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2446 และมีลูกชายด้วยกันสองคนคือ ฮานส์ อัลเบิร์ต (Hans Albert) และเอดูอาร์ด (Eduard) นั้นลุ่มๆ ดอนๆ จนต้องแยกทางกันในปี 2462 แต่ไม่นานไอน์สไตน์แต่งงานใหม่กับเอลซา (Elsa) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และแอบเป็นชู้กับเลขานุการของตัวเองชื่อว่า เบ็ตตี นอยมันน์ (Betty Neumann) ส่วนในจดหมายล็อตใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยนำมาเปิดเผยนั้น แสดงให้เห็นว่าไอน์สไตน์พูดถึงหญิงสาว 6 คนที่เขามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างแต่งงานอยู่กินกับเอลซา เมื่อต้นทศวรรษ 1980 (ประมาณปี 2523) มาร์กอต (Margot) ลูกสาวของเอลซา มอบจดหมายเกือบ 1,400 ฉบับให้มหาวิทยาลัยฮีบรูที่ไอน์สไตน์ช่วยก่อตั้ง โดยมีข้อแม้ว่า ทางมหาวิทยาลัยจะต้องไม่เปิดเผยจดหมายเหล่านั้นจนกว่าเธอจะเสียชีวิตไปแล้ว 20 ปี โดยมาร์กอตลาโลกไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2529 ผู้หญิงที่ไอน์สไตน์กล่าวถึงในจดหมายมีมากมาย อาทิ เอสเตลลา (Estella), อีเทล (Ethel), โทนี่ (Toni) และมาร์การิตา (Margarita) สายลับสาวรัสเซีย ส่วนคนอื่นๆ เขาเรียกด้วยตัวย่อแทน เช่น เอ็ม (M.) และแอล (L.) บาร์บารา วูล์ฟ (Barbara Wolff) แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรู ระบุว่า เอ็ม ซึ่งมีชื่อเต็มว่า มิชาโนว์สกี (Michanowski) มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับไอน์สไตน์ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษถัดมา โดยมิคาโนว์สกีอายุน้อยกว่าไอน์สไตน์ 15 ปี และเข้ากันได้ดีกับมาร์กอต “คุณนายเอ็มตามฉันมา (อังกฤษ) และคอยตามฉันจนไม่เป็นอันทำอะไร” มิชาโนว์สกีถูกกล่าวถึงในจดหมายฉบับหนึ่งที่ไอน์สไตน์ส่งถึงมาร์กอตในปี 2474 อีกทั้งในจดหมายอีกฉบับที่ส่งถึงมาร์กอต ไอน์สไตน์ขอให้ลูกเลี้ยงช่วยนำจดหมายไปส่งให้มาร์การิตา เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นขี้ปากของพวกสอดรู้สอดเห็น วูล์ฟเสริมว่า ไอน์สไตน์มีชู้รักเกินสิบ แต่แต่งงานด้วยเพียงสองคนเท่านั้น และว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดจากจดหมายกว่าพันฉบับที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาคือ การที่ไอน์สไตน์คุยเรื่องพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของตัวเองให้ภรรยาคนที่ 2 และมาร์กอตรับรู้ ศาสตราจารย์ฮาน็อก กัตฟรอยด์ (Hanoch Gutfreund) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮีบรู ที่ปัจจุบันเป็นประธานอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เวิลด์ไวด์ เอ็กซิบิชัน (Albert Einstein Worldwide Exhibition) ของ ม.ฮิบรู กล่าวว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่สาธารณชนได้สัมผัสเอกสารส่วนตัวจำนวนมากของไอน์สไตน์ การหยอกเย้าที่ฉับพลันกลับกลายเป็นการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อภรรยาคนแรก ได้รับการบันทึกไว้ในชีวประวัติของไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ดังผู้นี้ยังถูกวาดภาพว่าเป็นพ่อที่ไม่เต็มใจรับผิดชอบต่อลูก ทว่า กัตฟรอยด์ชี้ว่า จดหมายที่ได้รับการเปิดเผยล่าสุด แสดงให้เห็นว่าไอน์สไตน์เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์อย่างอบอุ่นกับภรรยาคนแรกและลูกๆ ของทั้งคู่มากกว่าที่เคยคิดกัน อีกทั้งแม้มีการพูดกันว่า การแต่งงานกับเอลซาเป็น ‘การแต่งงานเพื่อความเหมาะสม’ แต่ในความเป็นจริง ไอน์สไตน์เขียนจดหมายถึงภรรยาคนนี้เกือบทุกวัน บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และสิ่งที่ได้พบระหว่างตระเวนสอนหนังสือในยุโรป กัตฟรอยด์เสริมว่า เมื่อนำจดหมายโต้ตอบเหล่านี้มาร้อยเรียงกัน ทำให้เห็นตัวตนของไอน์สไตน์ชัดเจนยิ่งขึ้น จดหมายเหล่านี้ยังทำให้ได้รู้ที่มาที่ไปของเงินที่ไอน์สไตน์ได้จากรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2464 กล่าวคือ ภายใต้ข้อตกลงหย่าร้างกับภรรยาคนแรก เงินก้อนนี้ต้องฝากไว้ในธนาคารสวิสแห่งหนึ่งในชื่อของมิเลวา ซึ่งจะสามารถถอนดอกเบี้ยออกไปใช้จ่ายได้ ก่อนหน้านี้รู้กันเพียงว่า มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่จดหมายเหล่านี้ทำให้รู้ว่า ไอน์สไตน์นำเงินรางวัลส่วนใหญ่ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวในสหรัฐฯ ที่ซึ่งเขาอพยพไปตั้งรกรากหลังถูกนาซีขับไล่เช่นเดียวกับนักวิจัยยิวคนอื่นๆ และการลงทุนนั้นขาดทุนย่อยยับในช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 ทำให้มิเลวาไม่พอใจและคิดว่าเธอถูกทรยศ เนื่องจากอดีตสามีไม่ยอมฝากเงินรางวัลทั้งก้อนตามสัญญา และตามทวงเงินจากไอน์สไตน์มาตลอด อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วเขาให้เงินภรรยาคนแรกไปมากกว่าเงินที่ได้จากรางวัลโนเบลที่มีมูลค่าในขณะนั้น 28,000 ดอลลาร์ หรือ 280,000 ดอลลาร์เมื่อคิดเป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่า บิดาแห่งทฤษฎีสัมพัทธภาพไม่ต้องการถูกผูกติดกับความสำเร็จดังกล่าวชั่วนิรันดร์ ในโปสการ์ดที่ส่งถึงเอลซาเมื่อปี 2464 ไอน์สไตน์บอกว่า “อีกไม่นานผมคงเบื่อกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ ถ้าลองใครสักคนต้องอยู่กับอะไรมากเกินไป สิ่งนั้นก็จะค่อยๆ หมดความสำคัญไปเอง”

ไม่มีความคิดเห็น: